ทันตกรรมรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน คืออะไร ?

การรักษารากฟัน (Root Canal Treatment) คือ การกำจัดเชื้อโรค ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้ออักเสบของโพรงเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน หากโพรงประสาทฟันติดเชื้อ จะต้องทำการเอาเชื้อโรคออกเพื่อรักษาและทำความสะอาดส่วนที่เหลือให้ปราศจากเชื้อ หลังจากนั้น ทำการอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟัน เพื่อคืนความแข็งแรงและสวยงาม ให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ การรักษารากฟัน เป็นวิธีที่ช่วยให้ เราสามารถรักษาฟันไว้ได้ ไม่ต้องถอนฟันทิ้งโดยไม่จำเป็น

โพรงประสาทฟัน คืออะไร ?

โพรงประสาทฟัน คือ ชั้นที่อยู่ลึกสุดของฟัน ที่ประกอบด้วย เส้นประสาทของฟัน เส้นเลือดที่มาเลี้ยง หากมีฟันผุลุกลามมาถึงในชั้นโพรงประสาทฟัน จึงทำให้บางรายเกิดการอาการปวดฟันที่ค่อนข้างรุนแรง และเชื้อโรคจะกระจายถึงปลายรากฟัน และทำลายกระดูกรอบรากฟันได้

ทำไมต้องรักษารากฟัน ?

สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาที่ต้องรักษารากฟัน

1. ฟันผุมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน
2. ฟันได้รับการกระทบกระแทก จนทำให้ฟันแตกหัก จนถึงโพรงประสาทฟัน
3. มีพฤติกรรมการเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง การกัดเค้นฟัน หรือใช้ฟันรุนแรง นับเป็นการไปรบกวนโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้ฟันมีอาการร้าว จนกระทั่งเชื้อโรคสามารถแทรกซึมข้าไปในส่วนของโพรงประสาทฟันได้
 
เมื่อทันตแพทย์ตรวจแล้วพบว่ายังสามารถทำการรักษารากฟันได้โดยที่ไม่ต้องถอนฟันออก ก็จะแนะนำให้รักษารากฟัน ซึ่งประโยชน์ของขบวนการรักษารากฟันจะช่วยให้การเคี้ยวกลับมามีประสิทธิภาพที่ดีเหมือนเคย สามารถใช้ฟันกัดอาหารได้ปกติ ลักษณะรูปร่างของฟันกลับมาสวยงาม ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาสุขภาพฟันไม่ลุกลามป้องกันไม่ให้ฟันซี่อื่นถูกทำร้ายไปด้วย

สัญญาณเตือนเมื่อเกิดปัญหารากฟัน

เมื่อเกิดปัญหาผิดปกติที่รากฟัน มักมีสัญญาณเตือนด้วยอาการ เจ็บ , ปวด เวลาเคี้ยวหรือกัดอาหารมีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น รู้สึกฟันโยก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรากฟันถือเป็นส่วนหนึ่งในอวัยวะในช่องปากที่สำคัญมาก ฟันแต่ละซี่จะประกอบไปด้วยโพรงประสาทฟัน (Pulp chamber) ซึ่งเป็นส่วนที่รับสัญญาณความรู้สึก เมื่อโพรงประสาทฟันหรือ คลองรากฟันเกิดการติดเชื้อ จะทำฟันซี่นั้นตายไป จึงเกิดอาการแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึง ในบางรายอาจมีหนองออกมา จากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก สีของฟันคล้ำลง ได้อีกด้วย บางครั้งปัญหารากฟันอักเสบ จากภาวะฟันผุ หรือแตกมานาน อาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด หรืออาจเคยปวดแม้หายปวดแล้ว แต่ว่าการดำเนินของโรคก็ยังคงอยู่ จะมีโอกาสที่จะกลับมาปวดอีกครั้งเพราะรากฟัน ยังไม่ได้รับการกำจัดสาเหตุ ซึ่งเมื่อทำการ x-ray จะพบว่ามีหนองรอบรากฟัน ดังนั้นเมื่อตรวจพบควรรีบทำการรักษารากฟันทันทีเพื่อลดการสูญเสียฟัน

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

  1. การรักษารากฟัน ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะทำร่วมกับการฉีดยาชา และมีการใช้แผ่นยางบางๆ เพื่อแยกฟัน (Rubber Dam) ที่มีปัญหาออกจากฟันซี่อื่น
  2. ทันตแพทย์จะเอาฟันผุส่วนที่เสียหายออกกำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออกจนถึงส่วนโพรงประสาทฟัน
  3. ทำความสะอาดคลองรากฟัน และใส่ยาลงไปในคลองรากฟัน
  4. ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ วิธีการรักษารากฟัน ในบางรายไม่ได้จบในครั้งเดียวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายครั้งในการทำความสะอาดรวมถึงเปลี่ยนยาในคลองรากฟันเพื่อฆ่าเชื้อจนกว่าการติดเชื้อ หรือ การอักเสบจะหายเป็นปกติ เมื่อพบว่าไม่เกิดการอักเสบแล้วทันตแพทย์ก็จะอุดปิดคลองรากฟัน และใส่เดือยฟัน เป็นแกนเสริมสร้างความแข็งแรง เพื่อการทำครอบฟัน ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปทั้งนี้อาจต้องขึ้นกับสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่ด้วย

การดูแลรักษาหลังการรักษารากฟัน

หลังจากรักษารากฟันเสร็จใหม่ ๆ คนไข้อาจจะมีอาการหลังรักษารากฟัน คือ เจ็บในช่วง 2-3 วันแรก แต่อาการเจ็บจะค่อยๆ ทุเลาและจางหายไปเอง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาระงับปวดทั่วไป ภายหลังการรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแล แนะนำว่าควรปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวคนไข้เองในการรักษารากฟันที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้ยืนยาว ดังนี้
 
  1. ไม่ควรรับประทานอาหารในทันที ควรงดรับประทานอาหารจนกว่าอาการชาจากการใช้ยาชาจะหมดไป ป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
  2. ควรระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษารากฟัน งดเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน อาจทำให้ฟันแตก หรือหักได้ในกรณีที่วัสดุอุดฟันชั่วคราวเกิดหลุด ให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันโรคในช่องปากที่สามารถเขาสู่ภายในคลองรากฟันได้
  3. ควรมาตามนัดแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสเสี่ยงที่จะต้องถอนฟันซี่นั้นออกในอนาคต

คำถาม เกี่ยวกับการักษารากฟันที่พบบ่อย

ถาม : รักษารากฟันเจ็บไหม ?
ตอบ : ในขบวนการรักษารากฟัน มีการฉีดยาชาเข้าร่วมในระหว่างการรักษาอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการรักษา อาจจะรู้สึกตึงๆ บ้างระหว่างทำ

ถาม : รักษารากฟัน จัดฟันได้ไหม ?
ตอบ : จัดได้ตามปกติ ควรรักษารากฟันให้เสร็จก่อนถึงเริ่มจัดฟัน เพราะถ้าฟันซี่นั้นมีการติดเชื้อ และได้รับการจัดฟัน การเคลื่อนฟัน ยิ่งจะส่งผลเสียต่อฟันซี่นั้นมากยิ่งกว่าเดิม

ถาม : รักษารากฟัน กี่วันเสร็จ ใช้เวลานานไหม ?
ตอบ : โดยมากใช้เวลา 2-3 ครั้งในการมาพบทันตแพทย์ ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการของฟันซี่นั้นว่ามากน้อยเพียงใด บางกรณีที่มีการติดเชื้อหรือหนองปลายรากมาก อาจต้องใช้เวลามารักษามากกว่านั้น

ถาม : ถอนฟันทิ้ง แทนการรักษารากฟันดีกว่าไหม ?
ตอบ : ฟันแท้ถือเป็นสิ่งมีค่า และมีความมั่นคงแข็งแรง ใช้งานได้อย่างเป็นตามธรรมชาติ ไม่มีฟันเทียมชนิดใดดีไปกว่าฟันแท้ของตัวเอง ดังนั้นหากเกิดปัญหาสุขภาพฟันและการรักษารากฟันยังสามารถรักษาฟันแท้ของเราได้ แนะนำให้ทำการรักษาฟันไว้ดีกว่า เพราะการถอนฟันทิ้งไปเลยไม่ใช่การจบปัญหาเพราะยังมีปัญหาอื่นตามมาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างฟันที่ส่งผลให้เกิดฟันล้ม ฟันเอียง มีปัญหาของโรคเหงือกและปัญหาการบดเคี้ยว