ทันตกรรมโรคเหงือก เหงือก เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยว ซึ่งมีความสำคัญมาก ไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่น

โรคปริทันต์อักเสบ

โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “โรครำมะนาด” มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ คือ ภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะที่เกิดจากคราบแบคทีเรีย เกาะบริเวณเหงือกและฟัน หากไม่มีการทำความสะอาดกำจัดออกไป อย่างถูกวิธี (การแปรงฟัน, การใช้ไหมขัดฟัน, ขูดหินปูน) เนื้อเยื่อที่รองรับฟันให้ติดกับกระดูกขากรรไกรและกระดูกเบ้าฟัน จะถูกทำลายไปอย่างช้าๆ จนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบ ?

สาเหตุหลัก คือ คราบจุลินทรีย์ที่มากับอาหารที่เราทานและน้ำลาย เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยสารเคลือบฟัน เหงือกและกระดูกเบ้าฟัน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

อาการของโรคปริทันต์อักเสบ ?

โรคปริทันต์อักเสบในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการใดๆ เมื่อเป็นมากขึ้นอาการที่เริ่มแสดงออก คือ เวลาแปรงฟัน หรือตอนใช้ไหมขัดฟัน จะมีเลือดออกตามไรฟันซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการที่จะพบต่อมา คือ

1. มีกลิ่นปาก
2. เหงือกบวม มีสีแดงจัด, ปวดและเจ็บบริเวณเหงือก
3. เหงือกเริ่มแยกตัวออกจากฟัน จะรู้สึกว่าฟันยาวขึ้นเนื่องจากเหงือกร่น
4. ฟันเริ่มโยกเพราะมีการละลายของกระดูกที่รองรับฟัน
5. เหงือกเป็นหนอง

วิธีการป้องกัน โรคปริทันต์อักเสบ

การป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้รวมทั้งกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรีย แต่เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้กลับมาสะสมใหม่ทุกวัน ดังนั้นการป้องกันโรค จำเป็นต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวัน
 
1. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน (Dental Floss) ทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน
2. ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ทำให้ฟันแข็งแรงขึ้น
3. ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ถ้าขนแปรงเริ่มบานออกหรือเปลี่ยนรูป ควรเปลี่ยนใหม่ เมื่อแปรงฟันเสร็จควรวางแปรงสีฟันในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การที่ขนแปรงเปียกชื้นตลอดเวลาจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้
4. ควรแปรงทำความสะอาดลิ้นทุกครั้งที่แปรงฟัน เพื่อไล่คราบสกปรก 
5. พบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อรับการขูดหินปูนและตรวจดูสภาพช่องปาก
 
ทั้งนี้ โรคปริทันต์เป็นปัญหาที่เรื้อรังและเป็นนาน หากไม่รักษาแต่เนิ่นๆ อาจทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมภายในช่องปาก ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการที่กล่าวมาข้างต้น และดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันสามารถช่วยป้องกันปัญหาเหงือกได้

โรคเหงือกบวม เหงือกอักเสบ หายได้ หากรีบรักษา

อาการที่เกิดจากโรคเหงือกอาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งคนไข้อาจไม่มีอาการปวดหรือระคายเคืองบริเวณเหงือก ดังนั้น การเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จะทำให้ตรวจพบความผิดปกติของเหงือกและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก และช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาฟันให้กลับมาเป็นปกติ
เพราะโรคเหงือกเป็นโรคที่มีการพัฒนาความรุนแรงเป็นระยะ หากไม่รีบรักษา และปล่อยจนถึงระยะสุดท้ายอาจต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด