ศัลยกรรมช่องปาก

ฟันคุด คืออะไร ?

ฟันคุด (Impacted Tooth , Wisdom Tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก แบบฟันซี่อื่นๆ โดยอาจโผล่ออกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น หรือในบางกรณีฟันคุดนั้นฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ฟันคุดขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีช่องว่างเพียงพอที่จะโผล่ขึ้นมาได้ ฟันคุดส่วนใหญ่จะมีทั้งหมด 4 ซี่ ด้านในของช่องปาก ทั้งบนและล่างในฝั่งซ้ายและขวา สามารถพบได้บ่อยๆ ในบริเวณฟันกรามซี่สุดท้าย

ฟันคุดเกิดขึ้นได้ยังไง ?

ปกติแล้ว “ฟันคุด” คือฟันซี่ที่ควรจะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 16-25 ปี โดยอาจโผล่ขึ้นมาในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวราบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันซี่ข้างเคียงเสมอ ฟันคุดเกิดจากฟันที่พยายามงอกขึ้นมา จึงมีแรงผลักดันการงอก และเป็นไปได้ว่าจะเบียดฟันซี่ข้างๆ หรืองอกขึ้นมาในขากรรไกร หรือ เหงือกบริเวณนั้นอักเสบ

เป็นที่มาที่ทำให้เกิดอาการปวดฟันรุนแรง สร้างความทรมานแก่คนไข้ และ นอกจากฟันคุดบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้ายแล้ว ยังสามารถพบฟันคุดได้บริเวณฟันซี่อื่นๆ ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่พบได้น้อยกว่า

ฟันคุดที่มีเหงือกคลุม (Soft Tissue Impaction) มีลักษณะแค่เหงือกอย่างเดียวที่ปกคลุมฟันคุด และตัวฟันมีลักษณะตั้งตรง สามารถเอาออกโดยการเปิดเหงือก ร่วมกับการนำฟันคุดออกมา
ฟันคุดที่มีกระดูกคลุม (Bony Impaction) มีทั้งเหงือกและกระดูกที่คลุมฟันคุด รวมถึงลักษณะตัวฟันคุดมีตำแหน่งได้หลายแบบ เช่น ตั้งตรง ,เอียงตัว ,นอน ทำให้ต้องมีการกรอกระดูกร่วมด้วย เพื่อนำฟันคุดออกมา

ทำไมต้องผ่าฟันคุด ?

ฟันคุด บางครั้งอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากตัวฟันไม่โผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอ็กซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ อาการปวดฟันคุด โดยส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อของฟันหรือเหงือกบริเวณนั้นทำให้เกิดอาการปวด บวม ยิ่งมีการติดเชื้อมากขึ้นเท่าไหร่ อาการปวดก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น และหากตรวจพบทันตแพทย์แนะนำให้ผ่าฟันคุดออกเสียตั้งแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด เพราะถ้าปล่อยให้มีฟันคุดต่อไป นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังจะมีผลเสียต่อสุขภาพของช่องปากที่จะตามมาอีกด้วย

  • ฟันคุดคือตัวการทำให้ฟันผุ เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในลักษณะผิดรูปจึงเป็นที่กักเศษอาหารได้เป็นอย่างดี และเมื่อเราไม่สามารถทำความสะอาดออกได้ทั้งหมด ส่งผลให้ฟันคุดซี่นั้นผุและมักลุกลามไปยังฟันซี่ข้างๆให้ผุตามไปด้วย ในบางรายนอกจากจะต้องผ่าฟันคุดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องถอนฟันซี่ข้างๆ ที่ผุออกตามไปด้วยอีก
  • ฟันคุดทำให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบ เมื่อฟันคุดงอกโผล่ออกมาไม่เต็มที่ อาจมีเหงือกเข้าไป ปกคลุมฟัน และเมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกแล้ว ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกเกิดการอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไปยังส่วนอื่นๆ มีการติดเชื้อบางรายกลืนไม่ได้ ลุกลามลงคอ อาจทำให้หายใจไม่ได้ จำเป็นต้องพบแพทย์โดยเร่งด่วน
  • ฟันคุดมีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำ เมื่อมีฟันคุดเนื้อเยื่อโดยรอบอาจพัฒนาเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกได้ และด้วยฟันคุดที่มักอยู่ติดกับขากรรไกร จึงดันเบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อยๆ

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

เมื่อเอกซเรย์ตรวจพบตำแหน่งของฟันคุด ทันตแพทย์จะวางแผนการผ่าฟันคุดออก ซึ่งขั้นตอนการผ่าฟันคุดออกนั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล

โดยทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกเพื่อให้เห็นฟันคุดซี่นั้นๆแล้วนำฟันคุดออกมา ล้างทําความสะอาดก่อนเย็บปิดแผล เมื่อทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย

ฟันคุดสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ไหม ?

ฟันคุดเป็นฟันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที การผ่าฟันคุดออกไม่ได้น่ากลัว หากเปรียบเทียบกับโทษที่อาจเกิดจากฟันคุด
 
สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีฟันคุดหรือไม่ สามารถตรวจ เอ็กซเรย์หาตำแหน่งของฟันคุดได้ โดยสามารถวางแผนการรักษากับทันตแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดค่ะ

การดูแลรักษาภายหลังการผ่าฟันคุด

  1. กัดผ้าก๊อซ ให้แน่น 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไหล กรณีถ้าเลือดไม่หยุดไหล ให้กัดผ้าก๊อซต่อ ทุก 1-2 ชั่วโมง
    จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  2. ถ้ามีเลือดซึมๆ หรือมีน้ำลายให้กลืน ไม่ควรบ้วนเลือดหรือน้ำลายทิ้ง เนื่องจากจะส่งผลให้เลือดหยุดยากขึ้น
    เมื่อเลือดหยุดแล้ว ไม่ควรดูดแผล หรือเลียแผล
  3. สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ระมัดระวังการกระแทกบริเวณแผล
  4. รับประทานยาแก้ปวด หรือยาฆ่าเชื้อ ตามที่ทันตแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  5. ประคบเย็น บริเวณแก้มข้างที่ทำการผ่าตัด 2-3 วันแรก เพื่อลดการอักเสบ ป้องกันอาการบวมจากการอักเสบ
  6. วันที่ 4 – 5 ให้ประคบอุ่น เพื่อลดอาการบวม คั่งของเลือดและน้ำเหลือง ที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด
  7. หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหนัก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  8. รับประทานอาหารอ่อน ,รสไม่จัด ,นิ่มๆ เคี้ยวง่าย
  9. มาตัดไหม ตามทันตแพทย์นัด 7 – 10 วัน

คำถาม เกี่ยวกับฟันคุดที่พบบ่อย

ถาม : ผ่าฟันคุดเจ็บไหม ?
ตอบ : การผ่าฟันคุด จะคล้ายๆกับการถอนฟัน เนื่องจากมีการใช้ยาชาช่วย ขณะทำการรักษาจึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ จะมีความรู้สึกตึงๆบ้าง ในตอนที่เอาฟันคุดออก อาจมีอาการปวดบ้างหลังยาชาหมดฤทธิ์ คุณหมอจะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการกลับไปทานที่บ้าน และแนะนำขั้นตอนการดูแล หลังจากการหายชา

ถาม : ต้องรอให้เห็นฟันคุดก่อนไหม ถึงจะต้องถอน หรือ ผ่า ?
ตอบ : การถอน หรือ ผ่าฟันคุด ไม่จำเป็นต้องรอให้เห็นฟันคุดโผล่ขึ้นมา หากตรวจพบสามารถเอาออกได้ทันทีเพื่อลดโอกาสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมาหากมีการปวด บวม อักเสบ หรือ ติดเชื้อ

ถาม : ควรเอาฟันคุดออกตอนอายุเท่าไหร่ ?
ตอบ : หากพบว่ามีฟันคุดสามารถทำการผ่าออกได้เลย ยิ่งเร็วยิ่งดี การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย 18 – 25 ปี สามารถทำได้ง่ายกว่า ฟื้นตัวได้ไวกว่า แผลหายเร็วกว่า